image

วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)

คู่มือปฏิบัติ

"เจริญภาวนามหาสติปัฏฐานสูตร และมโนมยิทธิ

เพื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัยและหายสงสัยกฎของกรรม"

--------------------------------------------------

 

‘ทำได้ขอโมทนา ทำไม่ได้ไม่ต้องมา’

คำโปรยอักษรข้างต้น อ่านดูแล้วท่านอาจจะรู้สึกเหมือน สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ช่างหยิ่งเสียนี่กระไร.. แต่หากทำใจเป็น กลาง ๆ แล้วท่านจะทราบว่าคำข้างต้นนี้.. เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อผู้ที่เข้ามาใช้สถานที่ที่เราเรียกว่า ‘บ้านของพระพุทธเจ้า’ พระธรรมและวินัยเปรียบเสมือนมาลัยที่ร้อยดอกไม้หลากสีเข้าไว้ด้วยกัน สามารถน้อมถวายพระได้บริบูรณ์แล้วฉันใด กฎและระเบียบแบบแผนของสำนักปฏิบัติธรรม ก็ย่อมเกิดประโยชน์และความสุขต่อผู้ใช้ที่มาจากต่างตระกูล ต่างนิสัย ได้เสมอกันฉันนั้น จึงขอน้อมนำปฏิปทาปฏิบัติสายพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง มาใช้ประกาศในสำนักแห่งนี้ ท่านใดมีกำลังใจ เหมือนกันตามนี้ก็ยินดีต้อนรับ! ท่านใดคิดว่าไม่ไหว ก็ยังมีบ้านของพระพุทธเจ้าหลังอื่นที่ตรงกับจริตและกำลังใจของท่าน..

 

 

อารัมภบท: ญาติโยมพุทธบริษัท และเพื่อนพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย การที่บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ดีภิกษุสามเณรก็ดีที่เข้ามาปฏิบัติธรรมในวัดนี้ ทุกท่านมีความประสงค์ดีทั้งหมด นั่นก็คือทุกท่านมีความปรารถนาเพื่อพระนิพพาน การปฏิบัติทำความดีในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะสำหรับพระภิกษุสามเณร อย่าลืมคำว่า ‘นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตังกาสาวัง คะเหตะวา’ ‘ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน’

 

เราจะทำความเห็นให้ถูกต้อง(สัมมาทิฐิ) ทำตามระเบียบวินัยนั้นให้ถูกต้อง อันไหนดีเราปฏิบัติตาม นอกจากนั้น.. เราก็คิดต่อว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นของไม่ดี เป็นปัจจัยของความทุกข์ เราไม่ต้องการเกิดต่อไป เราต้องการพระนิพพานอย่างเดียว ตั้งใจให้ทานเพื่อตัดโลภะตั้งใจรักษาศีลเพื่อป้องกันโทสะ ตั้งใจปฏิบัติธรรมในด้านสมถวิปัสสนาเป็นการกำจัดโมหะ ตั้งใจปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน คือ

๑. ด้านของความรัก เราจะรักคนอื่นเหมือนกับรักชีวิตของเรา จิตใจจะเยือกเย็น

๒. มีอารมณ์สงสารอยู่เป็นปกติ ถ้าไม่เกินวิสัย เราจะเกื้อกูลให้มีความสุขตามกำลัง

๓. เราจะไม่อิจฉาริษยาใครเมื่อบุคคลอื่นได้ดี เห็นเขาได้ดีพลอยยินดีด้วย

๔. ถ้าเขาพลาดพลั้งไป อาจจะต้องถูกลงโทษ ขับไล่ ประการใดก็ตาม เราช่วยไม่ไหว เราจะวางเฉย..ไม่ซ้ำเติม

นี่กำลังใจของทุกท่านที่มาอยู่ในที่นี้ ทั้งพระภิกษุสามเณรประจำ หรือท่านที่มาปฏิบัติชั่วคราว ให้มีกำลังใจตามนี้ อันดับแรกขอให้ปฏิบัติตามระเบียบและจารีตของวัดดังนี้ :

 

 

กิจวัตรประจำวัน:

ญาติโยมทั้งหลาย ที่เข้ามาใช้สถานที่ของวัดเขาวง ก็เพื่อปฏิบัติธรรมและเจริญพระกรรมฐาน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข จึงขอความร่วมมือญาติโยมทั้งหลาย ดังนี้:

๑. เมื่อมาพักปฏิบัติธรรมต้องรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ให้ครบถ้วน และรักษากรรมบถ ๑๐* (ดูเชิงอรรถด้านล่าง) รวมเข้าไปด้วย

๒. ต้องร่วมกันทำกิจวัตรของสำนัก รายละเอียดกิจวัตร มีดังนี้ :

  • ๐๔.๐๐ น. สมาทานพระกรรมฐาน เจริญภาวนา (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๐๕.๐๐ น. ทำวัตรเช้า (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๐๖.๐๐ น. พระภิกษุออกบิณฑบาต ฆราวาสกวาดลานวัด
  • ๐๗.๐๐ น. ฉันอาหารเช้าแบบมีสติ (ปิดวาจาไม่พูดคุยกันในขณะใช้หอฉัน) ฆราวาสรับประทานอาหารหลังพระภิกษุสามเณรพิจารณาอาหารแล้ว บริการตนเองล้างภาชนะเอง (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๐๙.๐๐ น. เดินจงกรมใหญ่ (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๑๐.๐๐ น. เปิดเสียงตามสาย (คำเทศน์สอน)
  • ๑๑.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเพล ฆราวาดูแลตนเอง (ซื้อรับประทานที่ร้านวันยังค่ำ ตามสะดวกใจ)
  • ๑๒.๐๐ น. อบรมวิปัสสนาญาณ, ฝึกมโนมยิทธิ (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๑๓.๓๐ น. เปิดเสียงตามสาย (เจริญพระพุทธมนต์, คำเทศน์สอน)
  • ๑๔.๐๐ น. พระอาจารย์สรุปอารมณ์กรรมฐาน / บำเพ็ญกุศลตามอัธยาศัย
  • ๑๕.๐๐ น. ฝึกเดินจงกรม (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๑๖.๐๐ น. ฟังคำสอนหลวงพ่อฤๅษีฯ เรื่องพระวินัย, กวาดใบไม้ตามศรัทธา
  • ๑๗.๓๐ น. ระฆังเตือน เตรียมตัวพร้อม
  • ๑๘.๐๐ น. ทำวัตรเย็น สมาทานพระกรรมฐาน (กิจกรรมที่ต้องเข้าร่วม)
  • ๒๐.๐๐ น. พระอาจารย์ตอบปัญหา สนทนาธรรม
  • ๒๑.๐๐ น. พักตามอัธยาศัย ในระเบียบของสำนัก.

 

ให้ร่วมกันเจริญพระกรรมฐานกันเป็นปกติ อย่าอยู่ในห้องพักขณะเวลามีกิจวัตร เพราะบางคนแฝงตัวเข้ามาหาผลประโยชน์ เวลาคนอื่นไม่อยู่ในห้อง ก็เข้าไปขโมยของ ก็ถือว่าถ้ามา ดี ต้องเจริญพระกรรมฐานร่วมกัน ถ้าไม่เจริญพระกรรมฐาน มีเหตุขัดข้องอย่างไรให้แจ้งต่อ เจ้าหน้าที่ที่สำนักงานกลาง ทราบล่วงหน้าทุกครั้ง

 

๓. หากอยากทรงอารมณ์สบาย ๆ ไว้ ในขณะที่อยู่ปฏิบัติธรรม ขอเชิญชวนให้ช่วยงานวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น กวาดวัด พอหล่อเลี้ยงอิริยาบถให้ใจเป็นสมาธิสบาย ๆ ทางที่ดีควรช่วยกันกวาดวัด เพื่อเป็นการแทนคุณของสถานที่ ถือเป็นจารีตของผู้ปฏิบัติธรรมในสำนักนี้

 

 

การใช้สถานที่: ทางวัดยังมีบุคคลากรที่จะอำนวยความสะดวกแก่ท่านไม่เพียงพอ จึงใคร่ขอความเมตตาจากญาติโยมทั้งหลายช่วยตัวเองและทางวัด ดังนี้:

 

๑. นำบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการมาลงทะเบียนเข้าพักปฏิบัติธรรมทุกครั้ง! กรณีที่ท่านลืมนำมา ให้ติดต่อทางบ้านส่งโทรสารตามมาในขณะพักปฏิบัติธรรม เวลาลงทะเบียน ๐๙.๐๐ น.-๑๖.๐๐ น. หากมานอกเวลาดังกล่าวจะไม่รับเข้าพักให้มาติดต่ออีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

๒. อยู่พักปฏิบัติธรรมได้คราวละไม่เกิน ๗ วัน

๓. ต้องเข้าร่วมกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันตามที่ทางวัดกำหนด และไม่ทำกิจกรรมอื่นใด นอกเหนือจากที่วัดจัดวางเป็นระเบียบไว้

๔. เมื่อมีความจำเป็นต้องออกนอกบริเวณวัดในระหว่างอยู่ปฏิบัติธรรม ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ และลงสมุดเวลาเข้า-ออกที่สำนักงานกลางทุกครั้ง!

๕. สำรวม กาย วาจา ใจ รู้ตัวตลอดว่ามาเพื่อปฏิบัติกรรมฐาน ไม่รบกวนผู้อื่น... ด้วยการคุยเสียงดัง, ไม่เจ้ากี้เจ้าการ, ไม่ชักนำไปสู่สำนักอื่น, ไม่ทำการบอกบุญเรี่ยไร, ไม่อวดฉลาดมาสั่งสอนธรรมโดยทางวัดไม่ได้เชื้อเชิญหรือนิมนต์ ขอให้มาเพื่อปฏิบัติกรรมฐานเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความสุขสบายใจของตัวเองเท่านั้น

๖. เมื่อว่างจากกิจกรรมร่วมกันแล้ว ควรแยกย้ายกันภาวนาหาความสงบ ห้ามจับกลุ่มคุยกัน ห้ามทำตัวเป็นหมอดูพยากรณ์, รักษาโรค, หรือประทับทรงไม่ว่าอาการใด ๆ ทั้งสิ้น!

๗. ช่วยกันรักษาความสะอาดห้องพักและบริเวณที่พัก ต้องช่วยกันกวาดบริเวณวัด อันเป็นจริยา มารยาท ประเพณีของผู้พักมาอาศัยเขตพระศาสนา

๘. ทางวัดจัดอาหารไว้ให้ ๑ มื้อ คือมื้อเช้า หากต้องการอาหารมื้อเย็นหรือรับประทานเพิ่ม มีร้าน‘วันยังค่ำ’ ซึ่งเป็นร้านค้าของวัด เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น.-๑๗.๓๐ น.

๙. แต่งกายตามแบบของสำนักปฏิบัติธรรม (มีเสื้อข้าวก้นบาตร บริการที่ร้านค้า) ให้สวมใส่ในระหว่างพักในสำนัก (เพื่อเป็นการแยกนักท่องเที่ยวออกจากผู้ปฏิบัติธรรม)

๑๐.วัดนี้เป็นวัด ‘ปลอดสิ่งเสพติดและสัตว์เลี้ยง’ งดสูบบุหรี่และสิ่งเสพติดทุกชนิด งดการนำสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข, แมว เข้ามาในบริเวณวัดโดยเด็ดขาด! หากท่านนำมาด้วยต้องให้อยู่แต่ภายในรถของท่าน ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงมาเดินหรือขับถ่ายในบริเวณวัด

ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณวัด ยกเว้นที่สูบบุหรี่ที่ทางวัดจัดไว้ให้จุดเดียวเท่านั้น!

ระเบียบดังกล่าว เป็นเพียงการแนะนำให้ท่านเตรียมตัว เตรียมใจ ได้ถูกต้อง ยังมีมารยาท ประเพณีของสำนัก ซึ่งท่านต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์สุขของตัวเองและของผู้อื่น ที่ใช้เวลาและสถานที่ร่วมกัน ซึ่งจะทราบรายละเอียดนั้น เมื่อท่านเดินทางมาถึงวัดเขาวงแล้ว.

 

มารยาท จารีต ประเพณี:

๑. เมื่อจะออกไปนอกบริเวณวัดหรือกลับบ้าน ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานกลางให้ทราบก่อนทุกครั้ง! (เพื่อความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน)

๒. ห้ามทำตัวเป็นหมอดูพยากรณ์ ห้ามทำการประทับทรงหรือทำการคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าด้วยอาการใด ๆ เพื่อการใด ๆ ทั้งสิ้น

๓. ห้ามทำการหรือขอรับการรักษาโรค ไล่คุณไสยหรือ พิธีกรรมใด ๆ โดยอ้างพลังพิเศษพิศดารไม่ว่าอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น

๔. ครูอาจารย์ผู้แนะนำพระกรรมฐานของสถานที่นี้ ต้องได้รับการรับรองแต่งตั้งจากท่านเจ้าอาวาสและคณะกรรมการสงฆ์ของวัด ต้องนำสอนลูกศิษย์ตามปฏิปทาของพระคุณอาจารย์หลวงพ่อฤๅษี ฯ วัดท่าซุง (พระราชพรหมยาน) ต้องไม่สอนเพื่อติดพัน ฟั่นเฝือ ในความเป็นทิพย์ ในชาติภพอื่นใดนอกจากปัจจุบัน ซึ่งต้องพากันละให้สิ้นชาติขาดเชื้อ ต้องสอนและปฏิบัติกันในหัวใจพระพุทธศาสนา คือ: - พากันละความชั่ว - ชวนกันทำความดีตามครรลองจารีตของสำนัก - และทำจิตใจให้มีอารมณ์ ผ่องใสเบิกบาน มีพระนิพพานเป็นที่มั่นหมายเท่านั้น

๕. ห้ามจำหน่ายและดื่มสุราเมารัยในบริเวณวัด ห้ามดื่มสุราเมรัย มึนเมาจากภายนอกเข้ามาในวัด

๖. ห้ามจำหน่ายและเสพยาเสพติด และสิ่งเสพติดทุกชนิด ภายในบริเวณวัด

๗. ห้ามเล่นการพนันทุกชนิด (รวมทั้งซื้อขายหวยทุกประเภท) ภายในบริเวณวัด

๘. ห้ามแสดงอาการชู้สาว ไม่ว่าด้วยลักษณะอาการหนักหรือเบา อย่างใด ๆ ทั้งสิ้น แม้จะเป็นสามีภรรยากันเมื่อเข้ามาในวัดแล้ว ต้องอดใจสำรวมไว้ก่อน

๙. ผู้ที่อยู่ภายในสำนักแห่งนี้ ทั้งบุคคลภายในและผู้ที่มาพักปฏิบัติธรรม จะต้องไม่จับกลุ่มคุยกันหรือพูดถึงปฏิปทาอันขัดแย้งกับแนวทางการปฏิบัติของสำนัก ไม่นำเรื่องภายนอกสำนักมาคุยกัน ในทำนอง ‘ไฟในนำออก ไฟนอกนำเข้า’ และไม่ทำกิจกรรมอื่นใดนอกเหนือจาก ที่สำนักจัดให้มีขึ้น

๑๐. การออกเสียงทำวัตรสวดมนต์ ให้ฟังและสวดคล้อยตามจังหวะพระสงฆ์ผู้นำสวดของสำนัก มิใช่สวดตามความเคยชินของตนเอง หรือออกเสียงดังตามใจชอบ

๑๑. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ขณะเข้าร่วมกิจกรรมและปฏิบัติพระกรรมฐาน

๑๒. เมื่อกระทำการอันใดเกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้คณะกรรมการสงฆ์เรียกตัวมาไต่สวนเพื่อหาข้อสรุป ต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามโดยไม่บิดพริ้ว.

 

กรรมบถ ๑๐ ประการ *.

๑. ไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก

๒. ไม่ลักทรัพย์ คือไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยความเต็มใจ

๓. ไม่ทำชู้ในบุตรภรรยาและสามีของผู้อื่น (ขอแถมนิดหนึ่ง ไม่ดื่มสุราและเมรัยที่ทำให้มึนเมาไร้สติ)

๔. ไม่พูดจาที่ไม่ตรงความเป็นจริง

๕. ไม่พูดวาจาหยาบคายให้สะเทือนใจผู้รับฟัง

๖. ไม่พูดส่อเสียดยุให้รำตำให้รั่ว ทำให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน

๗. ไม่พูดจาเพ้อเจ้อเหลวไหล

๘. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของเขาไม่ยกให้

๙. ไม่คิดประทุษร้ายใคร คือไม่จองล้างจองผลาญเพื่อทำร้ายใคร

๑๐. เชื่อพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านด้วยดี